My Calander

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปาย !!! เที่ยวกันไหม


          อำเภอปายเป็นเมืองเก่าแก่ ประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาแต่เดิมคือชาวพ่ายหรือไปร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตระกูลออสโตร-เอเชียติก สาขาว้า-เรียง ดังมีร่องรอยหลักฐานซากวิหารและเจดีย์กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนภูเขาสูง ที่ดอนเชิงเขา บริเวณพื้นราบลุ่มน้ำปาย บางแห่งก่อสร้างด้วยหิน เช่น ในผืนป่าบริเวณใกล้น้ำตกเอิกเกอเต่อ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ปิงน้อย บางแห่งมีการขุดคูเป็นร่องลึกบนภูเขาสูงชัน มีเจดีย์บนยอดเขา
          มีหลักฐานว่าเจ้าเมืองคนแรกคือ ขุนส่างปาย ในสมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ พระราชาธิบดีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งเจ้าแก้วเมืองออกสำรวจชายแดน ได้พบว่าภูมิประเทศน่าสนใจ จึงแนะนำให้ขุนส่างปายย้ายเมืองมาตั้งฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปายเพราะเป็นที่ราบกว้างขวาง ผู้คนจึงเรียกเมืองใหม่ว่า "เวียงใต้" ส่วนเมืองเก่าเรียกว่า "เวียงเหนือ"



 วัดกลาง

          เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอปาย หากนักท่องเที่ยวนั่งรถประจำทางมาลงที่สถานีปาย เดินทางออกมาทางซ้ายมือจะพบวัดกลาง โดดเด่นที่เจดีย์ศิลปะแบบไทยใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางวัด มีมณฑปที่ยอดมงกุฎสีทองสวยงาม รายลอบด้วยเจดีย์ทรงมอญ ส่วนบริเวณใต้เจดีย์เป็นซุ้มที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปประจำวัดเหนือฐานวัดตั้งอยู่ตรงถนนคนเดินโดดเด่นมาก


 วัดพระธาตุแม่เย็น

          ตั้งอยู่บนเขาทางทิศตะวันออกหลังหมู่บ้านแม่เย็น ด้านหลังโบสถ์เป็นที่ตั้งเจดีย์เก่า สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดจาก จุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอปายได้ทั่วถึงทั้งบ้านเรืองและทุ่งนา ยิ่งถ้าได้ขึ้นไปในตอนเย็นจะได้ชมพระอาทิตย์ตกโดยมีเทือกดอยจิกจ้องเป็นฉาก หลังที่งดงาม และพระธาตุแห่งนี้เป็นจุดสังเกตของผู้โดยสารทางเครื่องบินว่าเข้าเขตอำเภอ


 วัดน้ำฮู

          อยู่ที่ตำบลเวียงใต้ เป็นที่ประดิษฐานของพระอุ่นเมือง พระพุทธรูปสิงห์สามอายุประมาณ 500 ปี สร้างด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 28 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ปางมารวิชัย พระพุทธรูปองค์นี้พระเศียรกลวง ส่วนบนเปิดปิดได้ และมีน้ำซึมออกมาอยู่เสมอ ชาว บ้านและนักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปนมัสการและขอน้ำที่ซึมออกมานี้ โดยทางวัดได้นำมาผสมเป็นน้ำมนต์ไว้ให้เรียบร้อย
          ปัจจุบันได้อัญเชิญพระอุ่นเมืองไว้เป็นพระประธานในโบสถ์ ปกติหากไม่ใช่หน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ทางวัดจะปิดประตูโบสถ์ นักท่องเที่ยวที่ต้องการนมัสการพระอุ่นเมือง จึงต้องขออนุญาตจากเจ้าอาวาส เพื่อเปิดโบสถ์เสียก่อน นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์อนุสรณ์สถานพระนางสุพรรณกลัยา พระเชษฐภคินีของสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช


 หมู่บ้าน ศูนย์วัฒนธรรมยูนาน

          พื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นสีแดง เขตค้ายาเสพย์ติดของว้าแดงมาก่อน มีชาวเขาบ้านสันติชลเชื้อสายจีนพักพิงอยู่กว่า 1,000 ชีวิต คุณ บุญหล่อ หล่ออริยวัฒน์ ผู้นำหมู่บ้าน หน้าหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมยูนาน ซึงมีบ้านดิน ที่ตั้งเรียงรายอยู่ ร้านค้าของที่ระลึกที่ทำจากบ้านดิน อาคารร้านอาหารจีนยูนาน และมีก้อนหิน สลักชื่อภาษาจีนตัวใหญ่ๆ วางเด่นเป็นสง่า ด้านหลังก้อนหินใช้เป็นเวทีกลางแจ้ง ที่จอดรถ สะพาน ประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่ญี่ปุ่นมีเรืองอำนาจอยู่ในประเทศไทย โดยมีวัตถประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพล และอาวุธสู่พม่าเช่นเดียวกัน กับสะพานข้ามแม่น้ำแคว ในอดีตสะพานนี้เคยถูกใช้เป็นเส้นทางเดินทางของประชาชนทั่วไป จนกระทั่งปัจจุบันก็มีการสร้างสะพานคอนกรีตมาตรฐานแทนที่ เมื่อสะพานนี้ทรุดโทรมลง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเดินทางมาถ่ายรูป และเดินเท้าข้ามสะพานแห่งนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกในการมาเยือน อ.ปาย ในปัจจุบัน สะพานแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้ ความเป็นมาของเมืองปาย และสะพานไป เป็นจุดถ่ายรูปยามเย็นที่สวยงาม


 แคมป์ช้าง ลุงน้อย

          ตั้งอยู่ที่ 85 ม. 2  ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (เข้าทางน้ำพุร้อนท่าปาย จากถนน 1095 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 87 - 88 ตรงเข้ามาเรื่อยก็จะพบแคมป์ช้าง หลายเจ้าทีเดียว ถนนเส้นนี้สามารถตรงเข้าเมืองปายได้) บริการ ที่พัก ขี่ช้าง ล่องแพแม่น้ำปาย


 โป่งน้ำร้อนท่าปาย

          เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อยู่ใกล้ตัวเมืองปาย เหมาะที่จะมาเล่นน้ำ อาบน้ำแร่ แบบธรรมชาติที่นี่ เพราะเขามีบ่อแช่แบบธรรมชาติมาก ไม่ได้เป็นห้องเป็นอาคาร แต่เป็นบ่อตามสภาพเดิม และยังสามารถเดินเที่ยวชม หรือทำกิจกรรมต้มไข่ก็ได้ ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส ในบริเวณจุดกำเนิดน้ำแร่ โป่งร้อนท่าปายอยู่ในป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบนท้องที่ตำบลแม่ฮี้ เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (ปาย - แม่มาลัย) ข้ามสะพานแม่น้ำปายถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 87 - 88 แยกซ้ายเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ตรงทางเข้าจะเห็นป้ายตั้งอยู่ค่อนข้างชัดเจน ตามทางเข้าบ้านท่าปาย เป็นทางลาดยางตลอดทั้งสาย มีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ และมีน้ำร้อนไหลผ่านทั่วบริเวณกว้าง มีบ่อใหญ่สองบ่อ นอกนั้นเป็นน้ำผุดหลายจุด ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส รอบๆ โป่งน้ำร้อนเป็นป่าไม้สัก ภายในบริเวณอนุญาตให้ตั้งเต็นท์พักแรมได้ แต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น มีร้านอาหารศูนย์บริการอยู่


 จุดชมวิวหยุนไหล

          ตั้งอยู่ในปาย เลยหมู่บ้านสันติชลไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร บนจุดชมวิวหยุนไหล สามารถมองเห็นทิวทัศน์ เมืองปายได้ 360 องศา ชมทะเลหมอกในยามเช้า พร้อมกับวิวตัวเมืองอำเภอปายที่สวยงามในอีกมุมมองหนึ่ง ที่คุณอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในเขตอำเภอปาย เหมาะสำหรับการดูพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า เวลาหมอกลงเราอาจจะได้เห็นหมอกวิ่งผ่านหน้าไปมาอยาสวยงาม
นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นมาชมในยามเช้า ประมาณ ตี4.30 น. รอชมดวงอาทิตย์ขึ้น




วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แอ่วเหนือ เที่ยวดอยอินทนนท์ จ.เชียใหม่



  สูงสุดแดนสยาม  

          แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” คำว่า ดอยหลวง หมายถึง ภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาลงไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า “ดอยอ่างกา” เมื่อครั้งที่พื้นที่ป่าไม้ทางภาคเหนือ ยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครอบครองนครต่างๆ นั้นในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของป่าไม้เป็นอันมาก โดยเฉพาะ “ดอยหลวง” พระองค์มีความหวงแหนเป็นพิเศษ ขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ได้สั่งไว้ว่า หากสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ขอให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้บนยอดดอยหลวงด้วย ต่อมาคำว่าดอยหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็น “ดอยอินทนนท์” ตามพระนามของเจ้าผู้ครองนครนั้น และเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสูงนี้ จะเห็นสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้า อินทรวิชยานนท์ประดิษฐานอยู่



          อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม
ดอยอินทนนท์มีชื่อว่า เป็นดอยภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ ในเขตพื้นที่ อำเภอจอมทอง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่แจ่ม มีเนื้อที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ ประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ ประมาณ 106 กม. โดยเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่ - จอมทอง ถึงหลักกม.ที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กม. แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กม. ถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ค่อนข้างสูงชัน ผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว รถจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว สามารถเช่ารถสองแถวที่น้ำตกแม่กลางได้ ส่วนการนำรถขึ้นไปเองนั้น จะต้องเสียค่าผ่านทาง ตรงด่านตรวจและจำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียมบริเวณหลักกม.ที่ 8 ทางอุทยานฯ มีที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยว สนใจติดต่อจองล่วงหน้าที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร.579-5734, 579-7223


          อำเภอจอมทอง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีความสูงตั้งแต่ 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพป่ามีหลายประเภททั้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา โดยเฉพาะป่าดิบเขาบนยอดดอยสูงสุด นับเป็นธรรมชาติที่โดดเด่นที่สุดนอกจากนี้บนยอดดอยยังพบพืชจากเขตอบอุ่น เช่น กุหลาบพันปี บัวทอง ต่างไก่ป่า ฯลฯ และตามหน้าผาพบป่ากึ่งอันไพน์ ซึ่งเป็นสังคมพืชที่หาดูได้ยากในเมืองไทย ดอยอินทนนท์เป็นศูนย์รวมของนกป่าเกือบ 400 ชนิด โดยเฉพาะนกหายากหลายชนิดที่อาศัยในที่สูง เช่น นกปีกแพร นกกระทาดง นกศิวะ ฯลฯ ในจำนวนนี้มีมากกว่า 100 ชนิด ที่เป็นนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยบนดอยอินทนนท์ในช่วงฤดูหนาว หลายชนิดพบได้ยากในพื้นที่อื่น เช่น นกเดินดง นกจับแมลง นกจาบปีกอ่อน นกเขน ฯลฯ



แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียง 

น้ำตกแม่ยะ

          ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ 70 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 108 ไป 58 กม. เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 ไปประมาณกม.ที่ 1 เลี้ยวซ้ายเข้าไป อีกประมาณ 14 กม. ลักษณะทั่วไป น้ำตกแม่ยะเป็นน้ำตกใหญ่ และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจาก หน้าผาสูงชัน 280 เมตร ไหลลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่านแล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย


น้ำตกวชิรธาร

           เป็นน้ำตกใหญ่เดิมชื่อ "ตาดฆ้องโยง" ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร และน้ำจะไหลจากหน้าผา ข้างบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชันเรียกว่า "ผาม่อนแก้ว" ภายหลังเรียกให้เพราะขึ้นว่า "ผากรแก้ว" การไปยังน้ำตกวชิรธารนี้ไปได้ง่ายมาก จากเชิงดอยอินทนนท์ ขึ้น ไปถึงกม.ที่ 21 จะเห็น ป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าไปอีก 351 เมตร


น้ำตกแม่กลาง


          เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง ห่างจาก เชียงใหม่ 66 กม. ใช้ทางหลวง 108 ถึงกม.ที่ 57 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กม. แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด น้ำตกแม่กลางเป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีน้ำไหลตลอดปี มีความ สวยงามตามธรรมชาติ รอบ ๆ บริเวณร่มรื่นน่าพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถลง เล่นน้ำได้ด้วย


น้ำตกสิริภูมิ


          เป็นน้ำตกซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันเป็นทางยาวสวยงามมาก แต่เดิมเรียกว่า "เลาลี" ตามชื่อของหมู่บ้าน(แม้ว)เลาลี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ น้ำตก น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกม.ที่ 30 มีทางแยกขวามือเข้าไป อีก ประมาณ 2 กม. แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก ประมาณ 300-400 เมตร เมื่อเราอยู่บนยอดดอยอินทนนท์จะสามารถมอเห็นน้ำตกแห่งนี้ได้


หนาวนี้...ที่เชียงใหม่ สัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอก


อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ดอยปุย

 
          มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ ภูเขาที่สูงสลับซับซ้อน ที่สำคัญได้แก่ ดอยสุเทพ ดอยบวกห้า และดอยปุย เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญทางศาสนา และทางประวัติศาสตร์ มีเนื้อที่ ประมาณ 262.50 ตารางกม. หรือ 163,162.50 ไร่
          การเดินทางไปยังที่ทำการอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 5 กม. ตามถนนห้วยแก้ว-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-สวนสัตว์ เชียงใหม่ ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร จากนั้นเดินทางต่อไปอีกเล็กน้อย ถึงทางแยกขวามือ มีป้ายบอกทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย


วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ

          เดินทางตามถนนห้วยแก้วผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็น ตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยประมาณ 11 กม. เมื่อขึ้นมาถึงจะมองเห็นบันไดทอดยาวขึ้นไปสู่วัด และมีนาค 2 ตัว อยู่สองข้างบันไดซึ่งสูง 300 กว่าขั้น วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้ เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวซึ่ง เดินทางไปเชียงใหม่ จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 3,051 ฟุตและและเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ จะมีงานประเพณี ีสรงน้ำพระบรมธาตุในวันเพ็ญวิสาขบูชาทุกปี


อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย


          นักบุญแห่งลานนาไทย ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกสร้างถนนขึ้นไปถึงดอยสุเทพ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยตั้งอยู่บนทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ฉะนั้น ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการดอยสุเทพ มักจะลงนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวน ให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนน จากเชิงดอย ขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่ม ลงมือเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทางจากเชิงดอยไปถึง วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ 10 กม.


หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) ดอยปุย 



          หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งนี้ ตั้งอยู่บนดอยปุย ห่างจากพระตำหนักฯ 3 กม. เป็นทางลาดยางตลอด หมู่บ้านม้งดอยปุยนี้ เป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจยิ่ง นอกจากเราจะเห็นสภาพ ความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ แล้ว บริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านยังมีทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างยิ่ง และยังสามารถมองเห็น ดอยอินทนนท์เบื้องหน้า ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย หมู่บ้านม้งดอยปุยเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้สะดวก ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้ตัวเมือง โดยใช้เวลาในการเดินทางจากตัวเมืองประมาณ 1 ชม.เท่านั้น ฉะนั้นจึงมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศนิยมเดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งภายในหมู่บ้านยังมี ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งผลิตภายในหมู่บ้าน และนำมาจากที่อื่นวางขายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย